ต้นไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดสุโขทัย

ต้นไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดสุโขทัย

ต้นตาลโตนด ชื่อวิทยาศาสตร์ : Borassus flabellifer Linn. ชื่อเรียกอื่น ๆ ภาคกลาง และทั่วไปเรียก ต้นตาลโตนด, ต้นตาล ภาคใต้ เรียก โหนด หรือ ตาลโตนด ยะลา และปัตตานี เรียก ปอเก๊าะตา 

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ตาลโตนด เป็นไม้วงศ์ปาล์ม และมะพร้าว มีลำต้นแข็งแรง และอายุยืนยาวมากกว่า อายุประมาณ 80-100 ปี โตเต็มที่สูง 18- 25 เมตร หรือมากกว่า เริ่มให้นํ้าตาล และลูกได้เมื่ออายุประมาณ 10-15 ปี เป็นพืชที่ขึ้นได้กับดินทุกชนิด ทนแล้ง และนํ้าท่วมได้ดี ไม่มีผลต่อพืชอื่น ๆ รอบข้าง เช่น นาข้าว สวนผัก
ราก : รากมีลักษณะเป็นกลมยาว สีนํ้าตาล คล้ายรากมะพร้าว แต่หยั่งลึกได้ลึกมาก และไม่แผ่ไปตามผิวดิน ทำให้ไม่โค่นล้มง่าย
ลำต้น : ลำต้นตาลโตนดคล้ายต้นมะพร้าว เปลือกลำต้นขรุขระ และมีสีขี้เถ้าออกดำ ลำต้นกลม ตรง สูงชะลูด ความสูงประมาณ 18-25 เมตร หรือมากกว่า บางต้นอาจสูงถึง 30 ม. ต้นที่มีอายุน้อยจะมีโคนต้นอวบใหญ่ (ประมาณ 1 ม.) แต่เมื่อสูงได้ประมาณ 4 เมตร ลำต้นจะเรียวลง (ประมาณ 40 ซม.) และเริ่มขยายใหญ่ที่ความสูงประมาณ 10 ม. (ประมาณ 50 ซม.) และคงขนาดจนถึงยอด เนื้อไม้เป็นเสี้ยนแข็ง เหนียว ไม่หักง่าย

ใบ : ใบมีสีเขียวเข้ม มีลักษณะเป็นรูปพัด ขนาดใหญ่ แข็งและหนา มีใบย่อย เรียกว่า Segment ที่แตกออกจากปลายก้านใบ ใบแตกออกบริเวณเรือนยอดเป็นกลุ่มแน่น ประมาณ 25-40 ใบ ใบแก่จะมีสีนํ้าตาลอ่อน ใบกว้างประมาณ 50-70 เซนติเมตร ก้านใบหรือทางตาลยาวประมาณ 1-2 เมตร ด้านขอบทางตาลมีหนามแหลมสั้น ขนาดไม่สม่ำเสมอกัน อายุใบประมาณ 3 ปี

ดอก : ตาลโตนดออกดอกเป็นช่อ แบ่งเป็นดอกตัวผู้ และดอกตัวเมีย ซึ่งอยู่แยกต้นกัน ช่อดอกต้นผู้เรียก “งวงตาล” ต้นหนึ่งมีช่อดอก 3-9 ช่อ ช่อดอกแตกแขนง 2-4 งวงต่อช่อ หนึ่งงวงยาวประมาณ 30-40 ซม. ส่วนช่อดอกต้นตัวเมีย เรียก “ปลีตาล” หรือบางที่เรียก งวงตาลเหมือนกัน ออกช่อหลังต้นตัวผู้ หนึ่งต้นมีประมาณ 10 ช่อ

ผล : ตาลโตนดจะออกผลที่ต้นตัวเมียเท่านั้น ที่เจริญมาจากช่อดอก เรียกว่า “ทะลาย” ผลอ่อนได้ที่ประมาณ 75-80 วัน หลังออกดอก ในแต่ละทะลายมี 10-20 ผล ผลอ่อนมีสีเขียว เนื้อจาวตาลอ่อนนุ่ม ส่วนผลแก่ มีสีนํ้าตาลเข้มหรือสีดำ ผิวเป็นมัน เนื้อจาวตาลเป็นเส้นใยละเอียด เหนียว มีสีขุ่นขาวจนถึงเหลืองแก่ตามอายุผล และมีกลิ่นหอม เนื้อเปลือก และจาวตาลแก่นิยมนำไปใช้ทำขนมตาล และใช้แต่งสีขนมต่าง ๆ

สรรพคุณทางยา
ช่อดอก และนํ้าตาล : นํ้าตาลสดใช้เป็นยาระบาย เป็นกระสายยาบำรุง, ช่อดอกหรืองวงตาลที่ยังอ่อนนำมาฝานต้ม เป็นยาบำรุงหัวใจ ยาเจริญอาหาร รักษาตาลโขมยในเด็ก ฝนทำยารักษาแผล แก้ร้อนใน ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ ขับพยาธิ
ผลตาล : ผลตาลแก่ คั้นเอานํ้าจากเปลือกผล ใช้ต้มดื่ม กินแก้โรคตานขโมย ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ไข ร้อนในกระหายนํ้า หรือใช้แช่นํ้าอาบ แก้ผดผื่นคัน
ก้านตาล และใบตาล : ก้านตาลหรือทางตาลสดนำมาเผาไฟแล้วคั้นเอานํ้าดื่มสำหรับเป็นยาแก้ท้องร่วง ขับปัสสาวะ แก้ปวดเมื่อย, ใบนำมาต้มนํ้าดื่ม แก้อาการกระสับกระส่ายหลังคลอด แก้อาการท้องร่วง ท้องเสีย และช่วยลดความดันโลหิต
รากตาลโตนด : รากนำมาต้มดื่ม แก้ไข้ แก้ร้อนใน กระหายนํ้า แก้ซางเด็ก บำรุงร่างกาย ขับปัสาสาวะ และใช้ขับพยาธิ

ผู้นำเสนอ

หมี ปาฏิหารย์

Share

Written by: