ต้นไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดลำปาง

ต้นไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดลำปาง

ต้นกระเชา
กระเชา ชื่อวิทยาศาสตร์ : Holoptelea integrifolia (Roxb.) Planch. ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ กระเชา, กระเจา, กระเจ้า (ภาคกลาง ภาคใต้), กระเจาะ, ขะเจา (ภาคใต้), กระเช้า(กาญจนบุรี), กระเซาะ (ราชบุรี), กาซาว(เพชรบุรี), ขะจาวแจง, ฮังคาว (ภาคเหนือ), พูคาว (นครพนม), มหาเหนียว(นครราชสีมา), ฮ้างคาว (เชียงราย อุดรธานี ชัยภูมิ), ตะสี่แค (กะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน)
กระเชา

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
กระเชา ไม้ต้นขนาดใหญ่ ผลัดใบ สูง 15-30 ม. แตกกิ่งตํ่า ลำต้นมักแตกง่ามใกล้โคนต้น เปลือกสีนํ้าตาลอมเทา มีช่องอากาศสีขาวทั่วไป

ใบกระเชา

ใบ : ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรีหรือรูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน กว้าง 4-9 ซม. ยาว 7-14 ซม. ปลายแหลม โคนเบี้ยว มน มักเว้าเล็กน้อยตรงก้านใบเป็นรูปคล้ายหัวใจ ขอบเรียบหรือเป็นจักห่าง ๆ แผ่นใบด้านบนมีขนเล็กน้อยตามเส้นกลางใบ และเส้นแขนงใบ ด้านล่างมีขนนุ่มทั่วไป ก้านใบยาว 0.5-1.3 ซม. มีหูใบรูปใบหอกขนาดเล็ก 2 อัน ร่วงง่าย

ดอกกระเชา

ดอก : ช่อดอกออกเป็นกระจุกตามง่ามใบ ยาว 0.8-1.5 ซม. มีขน แยกเพศเป็นดอกเพศผู้และดอกเพศเมีย บางครั้งก็มีดอกสมบูรณ์เพศปะปนอยู่บนช่อ วงกลีบรวมมี 5-6 กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน กลีบแยกจากกัน มีขนทั้ง 2 ด้าน เกสรเพศผู้ 3-9 อัน อับเรณูมีขนประปราย รังไข่ก้านสั้น ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น 2 แฉก

ผลกระเชา

ผล : ผลรูปรี แบน มีปีกบางล้อมรอบ กว้าง 0.8-1.4 ซม. ยาว 1.3-2 ซม. มีก้านเกสรเพศเมีย 2 อัน ติดค้างอยู่ที่ส่วนบนสุด บริเวณปีกมีลายเส้นออกเป็นรัศมีโดยรอบ

เปลือกกระเชา

การใช้ประโยชน์
กระเชาเป็นไม้ที่โตเร็วและทนไฟป่าได้ดี เนื้อไม้สดมีสีเหลืองอ่อนหรือเหลืองมะนาว เมื่อแห้งเป็นสีนวล แข็งพอประมาณ ใช้ในการก่อสร้างที่ไม่ต้องรับนํ้าหนักมากนัก ทำเครื่องเรือน เครื่องกลึง แกนร่ม ก้านและกล่องไม้ขีดไฟ

สรรพคุณทางยา
ใบและเปลือก : มีกลิ่นเหม็นใช้ปรุงเป็นยาแก้ปวดข้อ ยาแก้โรคเรื้อน ยากำจัดเห็บ หมัด และโรคผิวหนังพวกกลากเกลื้อน

ผู้นำเสนอ

หมี ปาฏิหารย์

Share

Written by: