ต้นไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดพะเยา

ต้นไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดพะเยา

สารภี ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mammea siamensis (Miq.) T. Anderson. เป็นไม้ดอกยืนต้นพบในประเทศไทย ลาว เวียดนามและกัมพูชา ชื่อพื้นเมืองอื่นๆ : ทรพี (จันทบุรี) สร้อยพี (ใต้) สาหละปี (เชียงใหม่, เหนือ)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
เป็นไม้ยืนต้นสูง 10-15 เมตร ไม่ผลัดใบ เรือนยอดเป็นพุ่มทึบ เนื้อไม้มีสีนํ้าตาลแกมแดง เปลือกสีเทาดำ แตกล่อนเป็นสะเก็ดตลอดลำต้น

ลักษณะใบสารภี

ใบ : เป็นใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม รูปไข่กลับแกมขอบขนาน เส้นแขนงใบไม่ชัดเจน แต่เส้นใบย่อยแบบร่างแหเห็นชัดทั้งสองข้าง ใบสีเขียว หนา แข็งเป็นมัน มียางขาว

ลักษณะดอกสารภี

ดอก : ดอกสีขาวอมเหลือง ออกดอกเป็นกระจุกตามกิ่ง สีขาว กลิ่นหอม ร่วงง่าย มีเกสรเพศผู้สีเหลือง

ลักษณะผลแก่สารภี
ลักษณะผลสุกสารภี

ผล : ผลรูปกระสวย ยาวประมาณ 2.5 เซ็นติเมตร เมื่อสุกสีเหลือง มีเนื้อสีเหลืองหรือสีแสดหุ้มเมล็ด รับประทานได้ ออกดอก มกราคม – มีนาคม เป็นผล กุมภาพันธ์ – เมษายน
ขยายพันธุ์ โดยการเพาะเมล็ด

ประโยชน์ของสารภี
ผลสารภีมีรสหวาน ใช้รับประทานเป็นผลไม้ นอกจากจะใช้ผลรับประทานเป็นผลไม้แล้ว ยังสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ เช่น ทำนํ้าผลไม้ การทำไวน์ ทำแยม เป็นต้น
ดอกตูมของสารภีใช้สกัดทำสีย้อมผ้าได้ โดยจะให้สีแดง

สรรพคุณทางยา
ดอก : ดอกมีรสหอมเย็นใช้ผสมในยาหอม ช่วยแก้ลมวิงเวียน มีอาการหน้ามืดตาลาย, ช่วยบำรุงเส้นประสาท, ใช้เป็นยาชูกำลัง บำรุงกำลัง, ช่วยทำให้เจริญอาหาร, ช่วยรักษาธาตุไม่ปกติ, ช่วยแก้โลหิตพิการ, ช่วยแก้ไข้มีพิษร้อน, ดอกมีฤทธิ์ขับลม, ใช้เป็นยาฝาดสมาน ดอกสารภีจัดอยู่ในตำรับยา “พิกัดเกสรทั้งห้า” (ดอกสารภี ดอกพิกุล ดอกมะลิ ดอกบุนนาค เกสรบัวหลวง), ตำรับยา “พิกัดเกสรทั้งเจ็ด” (เพิ่มดอกกระดังงา ดอกจำปา), และในตำรับยา “พิกัดเกสรทั้งเก้า” (เพิ่มดอกลำดวน ดอกลำเจียก)
เกสร : เกสรมีรสหอมเย็น ใช้เป็นยาแก้ไข้, ช่วยทำให้ชื่นใจ, ช่วยบำรุงครรภ์
ผลสุก : ส่วนผลสุกมีรสหวาน ช่วยบำรุงหัวใจ ใช้รับประทาน ช่วยขยายหลอดเลือด
ใบ : ใบช่วยขับปัสสาวะ, ช่วยบรรเทาอาการปวดตามข้อ
ยางไม้ : ยางไม้ของต้นสารภี นำมาใช้แก้อาการแพ้คันจากพิษของต้นหมามุ่ย หรือจากนํ้าลายของหอยบางชนิด

ผู้นำเสนอ

หมี ปาฏิหารย์

Share

Written by: