ต้นไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดสตูล

ต้นไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดสตูล

กาหลง ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bauhinia acuminata L. ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เสี้ยวน้อย (เชียงใหม่), โยธิกา (นครศรีธรรมราช), กาแจ๊กูโด (มลายู-นราธิวาส), ส้มเสี้ยว (ภาคกลาง) ถิ่นกำเนิดจะอยู่ในแถบประเทศเขตร้อน เช่น กัมพูชา, ลาว, พม่า, ไทย, อินเดีย

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
กาหลง เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีลักษณะต้นเป็นทรงพุ่ม ซึ่งง่ายต่อการตัดแต่งให้สวยงาม จึงทำให้นิยมนำมาปลูกไว้ในบริเวณบ้าน กาหลงเป็นไม้ผลัดใบในฤดูหนนาว แตกใบอ่อนในฤดูร้อน และเริ่มออกดอกในฤดูฝน โดยจะออกดอกตามข้อโคนของก้านใบ

ใบกาหลง

ใบ : ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปรีกว้าง ปลายใบเว้าลึกเข้ามาเกือบครึ่งใบ ทำให้ปลายแฉกสองข้างแหลม แยกเป็น 2 พู โคนใบมนเว้าเป็นรูปหัวใจ ส่วนขอบใบเรียบ แผ่นใบเป็นสีเขียวอ่อน มีเส้นใบออกจากโคนใบประมาณ 9-10 เส้น ปลายเส้นกลางใบมีติ่งเล็กแหลม เส้นใบสีเขียวสด หลังใบเรียบเกลี้ยง ส่วนท้องใบมีขนละเอียดสีขาว ส่วนหูใบลักษณะเรียวแหลม ร่วงได้ง่าย และมีแท่งรยางค์เล็ก ๆ อยู่ระหว่างหูใบ

ดอกกาหลง

ดอก : มีลักษณะยอดดอกเป็นสีขาว มีกลีบดอก 6 กลีบ เรียงทับซ้อนกัน มีเกสรตัวผู้และตัวเมียอยู่ในดอกเดียวกัน โดยเกสรตัวผู้จะมีลักษณะเป็นเส้นสีขาวคล้ายเส้นด้าย ยื่นออกมาจากดอกประมาณ 5 เส้น ปลายเกสรจะเป็นตุ่มสีเหลืองสดใส ส่วนเกสรตัวเมียจะมีเขียวอ่อน อยู่ที่กึ่งกลางดอกและมีอยู่เส้นเดียว และในหนึ่งช่อจะมีดอกประมาณ 5-8 ดอก และจะผลัดกันบานคราวละ 2-3 ดอก

ฝักอ่อนกาหลง
ฝักแห้งกาหลง

ผล : ผลมีลักษณะเป็นฝักแบน ขอบฝักเป็นสันหนา ส่วนปลายฝักและโคนฝักสอบแหลม ปลายฝักมีติ่งแหลม ขอบของฝักเป็นสันหนา ฝักอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีนํ้าตาล และในแต่ละฝักจะมีเมล็ดอยู่ประมาณ 5-10 เมล็ด เมล็ดมีขนาดเล็กและแบนหรือเป็นรูปขอบขนาน โดยฝักจะแก่ในช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนธันวาคม

สรรพคุณทางยา
กาหลงนั้นถือว่ามีสรรพคุณต่าง ๆ มากมาย เช่น
ดอก : ดอกสามารถช่วยแก้อาการปวดศรีษะได้, ช่วยลดความดันโลหิต, รับประทานช่วยขับเสมหะได้, ช่วยแก้เลือดออกตามไรฟัน, ช่วยแก้อาการอาเจียนเป็นเลือด, ช่วยแก้เสมหะพิการ
ใบ : ใบช่วยขับปัสสาวะได้, ช่วยขับและฟอกโลหิตระดูได้, ใช้รักษาแผลในจมูก
ต้น : สรรพคุณแก้ลักปิดลักเปิด, เป็นยาแก้โรคสตรี
เปลือกต้น : ช่วยแก้ไอได้, ช่วยห้ามเลือดได้, ช่วยแก้อาการท้องเสียได้
ราก : ใช้ต้มเป็นยาดื่มช่วยแก้อาการไอ, รากช่วยแก้อาการบิดได้
ดอกสามารถใช้รับประทานได้ และชาวเขาจะนิยมใช้ยอดอ่อนมารับประทาน

ผู้นำเสนอ

หมี ปาฏิหารย์

Share

Written by: