สินค้าแนะนำ

ต้นไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดสระบุรี

ต้นไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดสระบุรี

ตะแบกนา ชื่อวิทยาศาสตร์ : Lagerstroemia calyculata Kurz. ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ แลนไห้ (เชียงใหม่), ตะแบกขาวใหญ่ (ปราจีนบุรี), ตะแบกใหญ่ (ราชบุรี,นครราชสีมา), เปลือยดง (นครราชสีมา), ตะแบกหนัง (จันทบุรี), เปลือย (สุโขทัย,พิษณุโลก), ตะแบกแดง (ประจวบคีรีขันธ์), อ้าย (สุราษฎร์ธานี), ป๋วย เปื๋อย เปื๋อยขาว เปื๋อยตุ้ย เปื๋อยค่าง เปื๋อยนํ้า เปื๋อย   ลั้วะ เปื๋อยเปลือกหนา (ภาคเหนือ), เปือย (ลานช้าง), ตะแบก ตะแบกใหญ่ ตะแบกหนัง (ภาคกลาง), กะแบก (ไทย), ตะคู้ฮก (กระเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), บองอยาม (มาเลเซีย-ปัตตานี) เป็นต้น

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้ต้น ผลัดใบ สูง 15-30 เมตร โคนต้นเป็นพูพอน เปลือกเรียบเป็นมัน สีเทาหรือเทาอ่อน มีรอยแผลเป็นดวงตลอดทั้งต้น

ใบตะแบกนา

ใบ : ใบเดี่ยว ออกตรงข้าม รูปใบหอก ปลายมน มีติ่งแหลมเล็กโคนมน ขอบใบม้วนขึ้น ใบอ่อนสีออกแดง

ดอกตะแบกนา

ดอก : สีม่วงอมชมพูแล้วเปลี่ยนเป็นสีขาว ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ดอกตูม รูปทรงคล้ายลูกข่าง มีจุกสั้น ๆ อยู่ที่ปลายยอด กลีบเลี้ยงมีสันนูนพาดตามยาว กลีบดอก 6 กลีบ โคนคอดเป็นก้านสั้น ๆ เกสรตัวผู้จำนวนมาก

ผลแห้งตะแบกนา

ผล : ลักษณะเป็นรูปไข่ ถ้วยกลีบเลี้ยงจะหุ้มโคนของผลเช่นเดียวกับอินทนิลนํ้าและอินทนิลบก ผลมีขนาดเล็ก ผลแก่เป็นสีนํ้าตาล แข็ง เมื่อแก่จะแตกออกเป็น 6 แฉก ภายในมีเมล็ดจำนวนมาก มีปีก เมล็ดเป็นสีนํ้าตาลเข้ม ผลตะแบกจะเริ่มแก่ในช่วงประมาณเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม เมล็ดจะร่วงหล่นเมื่อเปลือกผลแตกและอ้า
ขอนดอกหรือแก่นดำ เป็นเนื้อไม้ที่ได้จากต้นตะแบกหรือต้นพิกุลที่มีราลง เนื้อไม้จะมีลักษณะเป็นสีนํ้าตาลเข้มประขาว มองเห็นเป็นจุดสีขาวกระจายทั่วไป ภายในผุเป็นโพรงเล็ก ๆ และมีกลิ่นหอม รสจืด ขอนดอกอาจจะเป็นเนื้อไม้ที่ได้จากต้นตะแบกหรือต้นพิกุลก็ได้ ที่มีอายุมาก ๆ ยอดหักเป็นโพรง มักมีเชื้อราเข้าไปเจริญในเนื้อไม้และไม้ยืนต้นตาย เนื้อไม้จึงเหมือนไม้ผุ

สรรพคุณทางยา
เปลือก และแก่นลำต้น : ต้มดื่ม บรรเทาอาการไข้หวัด, แก้มูกเลือด, ช่วยบรรเทาอาการท้องเสีย ท้องร่วง, แก้โรคบิด, ช่วยแก้พิษ แก้ลงแดง แก้พิษสารเสพติด ต้มนํ้าอาบ รักษาโรคผิวหนัง กลากเกลื้อจากเชื้อรา, รักษาผดผื่นคัน
ดอก : ต้มดื่ม แก้ท้องเสีย, ช่วยบำรุงเลือด บำรุงร่างกาย ดอกบดใช้ภายนอกหรือต้มอาบ ช่วยรักษาบาดแผล, ช่วยห้ามเลือด, แก้โรคผิวหนัง, รักษาผดผื่นคัน
ราก : แก้อาการปวดเมื่อยร่างกาย
ขอนดอกหรือแก่นดำ : ต้มดื่มมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงหัวใจ บำรุงปอด บำรุงตับ บำรุงทารกครรภ์ ใช้เป็นยาแก้ลมกองละเอียด ได้แก่ อาการหน้ามืด ตาลาย สวิงสวาย ใจสั่น บำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่น ใช้เป็นยาแก้ไข้ร้อนเพื่อตรีโทษ แก้เหงื่อ แก้เสมหะ ในบัญชียาจากสมุนไพร มีปรากฏการใช้ขอนดอกในกลุ่มยารักษาอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) ซึ่งมีส่วนประกอบของขอนดอก ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ในตำรับยาต่าง ๆ

ผู้นำเสนอ

หมี ปาฏิหารย์

Share

Written by: