จามจุรี ชื่อวิทยาศาสตร์ : Samanea saman (Jacq.) Merr. ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ก้ามกราม (กลาง), ก้ามกุ้ง (กทม., อุตรดิตถ์), ก้ามปู (กทม., พิษณุโลก), จามจุรี (กทม.,ตราด), ฉำฉา (กลาง, เหนือ), ตุ๊ดตู่ (ตราด), ลัง, สารสา, สำสา (เหนือ)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
จามจุรีเป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ สูง 15-20 เมตร ผลัดใบ เรือนยอดแผ่เป็นพุ่มกว้างคล้ายร่ม โคนต้นเป็นพูพอนตํ่า เปลือกสีนํ้าตาลปนเทา แตกตามยาวขรุขระไม่เป็นระเบียบ
ใบ : ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ปลายคู่ เรียงสลับ ใบย่อยเรียงตรงข้าม มี 2-10 คู่ ใบรูปไข่รูปรีหรือคล้ายรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน กว้าง 1-2.5 ซม. ยาว 1.5-5 ซม. ปลายใบแหลม โคนใบบิดเบี้ยว ผิวในด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างมีขนนุ่ม ขอบใบเรียบ เส้นแขนงใบข้างละ 7-8 เส้น ไม่มีก้านใบย่อย
ดอก : สีเหลืองปนเขียว กลีบเลี้ยง 7-8 กลีบ กลีบดอกโคนเชื่อมติดเป็นถ้วย ปลายแยก 5 แฉกเป็นรูปแตร เกสรเพศผู้จำนวนมาก ยาวโผล่พ้นกลีบดอก สีชมพูอ่อน บริเวณโคนมีสีขาว ดอกออกเป็นช่อแบบช่อกระจุกแน่น ตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ช่อดอกยาว 3 ซม. ช่อดอกรวมบานเต็มที่กว้าง 5-6 ซม. ดอกย่อยขนาดเล็ก
ผล : เป็นฝักรูปขอบขนาน ฝักแก่เป็นสีเขียว ฝักแห้งสีนํ้าตาลดำ กว้าง 1.5-2.4 ซม. ยาว 15-20 ซม. คอดเป็นตอนระหว่างเมล็ด เมล็ดแบนสีนํ้าตาลเข้มปนดำเป็นมัน กว้าง 6 มม. ยาว 10 มม.
การใช้ประโยชน์
เนื้อไม้ใช้ในงานแกะสลัก ทำเครื่องใช้ เครื่องเรือนต่าง ๆ
ฝักแก่เป็นอาหารสัตว์
สรรพคุณทางยา
เปลือกต้น : นำมาป่นให้ละเอียดเป็นยาสมานแผล
เปลือกต้นและเมล็ด : รักษาอาการบิด ท้องเสีย
ใบ : แก้ปวดแสบปวดร้อน
เมล็ด : แก้โรคผิวหนังเปลือกสมานแผลในปากคอ แก้ท้องร่วง