สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง เป็นสถานีวิจัยแห่งแรกของโครงการหลวง ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ว่า “ให้ช่วยเขา ช่วยตัวเอง” มีพระราชประสงค์ให้ชาวไทยภูเขาที่พักอาศัยอยู่ตามดอยต่างๆ ทางภาคเหนือเลิกปลูกฝิ่น และทำไร่เลื่อนลอย อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ป่าไม้ และต้นน้ำลำธารของประเทศถูกทำลาย จากเดิมที่เป็นดอยหัวโล้นจึงแปรสภาพเป็นขุนเขาแห่งความอุดมสมบูรณ์ค่ะ
เมื่อปี พ.ศ. 2512 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรชีวิตของชาวเขาที่บ้านดอยปุยใกล้พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ จึงทรงทราบว่าชาวเขาปลูกฝิ่นแต่ยากจน รับสั่งถามว่านอกจากฝิ่นขายแล้ว เขามีรายได้จากพืชชนิดอื่นอีกหรือเปล่า ทำให้ทรงทราบว่า นอกจากฝิ่นแล้ว เขายังเก็บท้อพื้นเมืองขาย แม้ว่าลูกจะเล็กก็ตาม แต่ก็ยังได้เงินเท่าๆ กัน
โดยที่ทรงทราบว่า สถานีทดลองดอยปุย ซึ่งเป็นสถานีทดลองไม้ผลเมืองหนาวของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้นำกิ่งพันธุ์ท้อลูกใหญ่มาต่อกับต้นตอท้อพื้นเมืองได้ จึงให้ค้นคว้าหาพันธุ์ท้อที่เหมาะสมสำหรับบ้านเรา เพื่อให้ได้ท้อผลใหญ่หวานฉ่ำ ที่ทำรายได้สูงไม่แพ้ฝิ่น โดยพระราชทานเงินจำนวน 200,000 บาท ให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำหรับจัดหาที่ดินดำเนินงานวิจัยไม้ผลเมืองหนาวเพิ่มเติมจากสถานีวิจัยดอยปุยซึ่งมีพื้นที่คับแคบ ซึ่งเรียกพื้นที่นี้ว่า สวนสองแสน
ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งโครงการหลวงขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2512 เริ่มต้นเป็นโครงการส่วนพระองค์ โดยมีหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการในตำแหน่งผู้อำนวยการ มีชื่อเรียกในระยะแรกว่า “โครงการหลวงพระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขา” โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์รวมกับเงินที่มีผู้ทูลเกล้าฯ ถวาย สำหรับเป็นงบประมาณดำเนินงานต่างๆ และพระราชทานมีเป้าหมายสำหรับการดำเนินงาน
การดำเนินงานต่างๆ ของโครงการหลวง มีอาสาสมัครจากมหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการด้านต่างๆ ช่วยดำเนินงานถวาย ทำให้การปฏิบัติงานก้าวหน้าอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานวิจัยการปลูกพืชเมืองหนาวชนิดต่างๆ เกษตรกรสามารถนำไปปลูกทดแทนฝิ่นได้ผลดี
พ.ศ. 2537 โครงการควบคุมยาเสพติดของสหประชาชาติ (UNDCP) ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองเพื่อสดุดีพระเกียรติคุณในการแก้ปัญหายาเสพติด โดยส่งเสริมให้ชาวเขาเลิกปลูกฝิ่น แต่ปลูกพืชอื่นแทน จึงกล่าวได้ว่าโครงการหลวงเป็นโครงการปลูกพืชทดแทนฝิ่นแห่งแรกของโลก
ในระยะเริ่มต้นไม่มีใครทราบว่าควรปลูกชนิดใดบนดอยซึ่งมีอากาศหนาวเย็น โครงการหลวงจึงเริ่มดำเนินงานวิจัยเพื่อทดลองการปลูกไม้ผลเมืองหนาวที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่สูงของประเทศไทย โดย พ.ศ. 2512 ได้ตั้ง สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง เพื่อเป็นสถานีทอดลองการปลูกพืชเมืองหนาวชนิดต่างๆ ในบริเวณหุบเขาสูงของดอยอ่างขาง ตำบลม่อนปิน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ค่ะ
สวนแปดสิบ สวนกลางแจ้งตรงข้ามสโมสรอ่างขางเป็นสวนตกแต่งสวนสไตล์อังกฤษมีดอกไม้ ไม้ประดับปลูกหมุนเวียนตลอดทั้งปี ด้านบนยังเป็นลาน ต้นซากุระญี่ปุ่น จะบานช่วงเดือน ธันวาคม-มกราคม เป็นจุดที่นักท่องเที่ยวนิยมมาถ่ายรูปสวยๆ นั่นเองค่ะ
สวนหอม เป็นสวนที่รวบรวมพันธุ์ไม้ที่มีกลิ่นหอมทั้งในและต่างประเทศ เช่น ต้นหอมหมื่นลี้ มะลิเนปาล ลาเวนเดอร์ ถ้าเดินผ่านสวนจะรู้สึกได้กลิ่นหอมจากพรรณไม้ในสวน
สวนบอนไซอ่างขาง จัดแสดงพันธุ์ไม้หลากชนิดยุคแรกเริ่มก่อตั้งสถานีในรูปแบบการปลูกเลี้ยงในกระถางแบบบอนไซ นอกจากนี้ยังมีพืชทนแล้ง พืชกินแมลง และสวนหินธรรมชาติจุดชมวิวภายในสถานีให้ได้เดินชมกันอีกด้วย
โรงเรือนกุหลาบตัดดอก รวบรวมกุหลาบชนิดตัดดอกสายพันธุ์ต่างๆ จากประเทศเนเธอร์แลนด์ ติดกับโรงเรือนเป็นร้านค้าของที่ระลึก จำหน่ายสินค้าของโครงการหลวงและชุมชน
โรงเรือนรวบรวมพันธุ์ผัก จัดตกแต่งด้วยผักเมืองหนาวหลายชนิด พืชสุมนไพรของโครงการหลวงให้ได้ชม
แปลงบ๊วย ต้นบ๊วยของที่นี่ ปลูกตั้งแต่แรกเริ่มก่อตั้งโครงการหลวง จนถึงปัจจุบันแตกกิ่งก้านสาขาให้ร่มเงาเย็นสบาย
แปลงไม้ผลตามฤดูกาล ภายในสถานีฯ อ่างขางมีแปลงไม้ผลเมืองหนาวหลายอย่างให้ได้ชมตลอดทั้งปี เช่น พี้ช พลับ สาลี กีวี่ อีกด้วย
หมู่บ้านนอแล เป็นชาวเขาเผ่าปะหล่อง (ดาราอั้ง) ตั้งอยู่ติดกับชายแดนพม่า มีวิถีชีวิต วัฒนธรรม และการแต่งการ งานหัตถกรรม สวยงามแปลกตา งานปีใหม่ปะหล่องเดือนเมษายน มีการแสดงฟ้อนนางร้อยเงิน ฟ้อนดาบ
หมู่บ้านขอบด้ง เป็นชนเผ่าลาหู่ (มูเซอ) มีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย มีการถักหญ้าอิบูแค เป็นกำไรสีสันสวยงาม ให้นักท่องเที่ยวซื้อเป็นของฝาก
ชุมชนชาวจีนยูนนาน ที่บ้านคุ้ม บ้านหลวง บ้านปางม้า มีร้านค้าจำหน่ายของที่ระลึกให้นักท่องเที่ยว ชา สมุนไพร ผลไม้แห้ง เป็นต้น
ปั่นจักรยานชมธรรมชาติ สถานีฯ อ่างขางมีบริการจักรยานเช่าติดต่อได้ที่สโมสรอ่างขาง ปั่นชมแปลงเกษตรภายในสถานี
ขี่ฬ่อชมธรรมชาติ สถานีเกษตรหลวงอ่างขางมีการจัดกลุ่มชาวบ้านนำฬ่อมาให้บริการแก่นักท่องเที่ยวได้ขี่ชมสถานที่บริเวณแปลงต่างๆ ผู้สนใจสามารถติดต่อเช่าขี่ฬ่อได้ที่สถานีฯ อ่างขาง
เส้นทางศึกษาธรรมชาติ เส้นทางเดินในแปลงปลูกป่าของสถานีฯ ซึ่งเป็นไม้ที่นำเข้ามาจากประเทศไต้หวัน นักท่องเที่ยวสนใจเดินในเส้นทางของสถานีฯ อ่างขาง สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อให้ข้อมูลก่อนการเที่ยวชมได้ค่ะ
การดูนก ดอยอ่างขางเป็นสถานที่ดูนกที่มีนกหลายสายพันธุ์ โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาวที่จะมีนกอพยพหาดูยากมายังบริเวณสถานีฯ อ่างขางรวมถึงพื้นที่บริเวณใกล้เคียง ซึ่งชมรม “ฅนรักษ์นกอ่างขาง” โดยสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง มีข้อมูลไว้บริการสำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจดูนกที่อ่างขาง
พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ 1 ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านยางระหว่างทางขึ้นอ่างขาง พิพิธภัณฑ์มีชีวิตจัดแสดงนิทรรศการเรื่องราวการก่อตั้งโครงการหลวง และโรงงานดอยคำ หยุดทุกวันจันทร์
อุทยานแห่งชาติฟ้าห่มปก มีความสูง 2,285 เมตร เป็นยอดดอยที่สูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย บนยอดดอยจะเห็นทิวทัศน์มีจุดชมทะเลหมอก พระอาทิตย์ยามเข้า และจุดชมวิว อีกทั้งยังเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยงาม
ดอยผ้าห่มปกมีหมอกปกคลุมจัดและมีอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี มีพืชพันธุ์และสัตว์ป่าหายากและที่น่าสนใจนานาชนิด อาทิ เทียนหาง บัวทอง ผีเสื้อไกเซอร์อิมพิเรียล ผีเสื้อมรกตผ้าห่มปก ผีเสื้อหางติ่งแววเลือน ผีเสื้อหางดาบตาลไหม้ นกปรอดหัวโขนก้นเหลือง เป็นต้น
ของฝาก ของที่ระลึกจากโครงการหลวง
ผลิตภัณฑ์ใต้สัญลักษณ์ “ดอยคำ” มีทั้งสินค้าแปรรูป ผักสด ผลไม้ปลอดสารพิษ ไม้ดอกเมืองหนาวตามฤดูกาล
งานหัตถกรรมผ้าทอหมู่บ้านนอแล เช่น ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล ย่าม ฯลฯ
หัตถกรรมพื้นบ้านหมู่บ้านขอบด้ง เช่น อิบูแค กำไลถักด้วยหญ้านำมาย้อมสีและสานลวดลายของมูเซอ
การเดินทางไปสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง
เส้นทางที่ 1 จากตัวเมืองเชียงใหม่ ไปตามทางหลวงหมายเลข 107 เชียงใหม่-ฝาง ผ่าน อำเภอแม่ริม แม่แตง เชียงดาว ไชยปราการ ถึง กม.ที่ 137 เลี้ยวซ้าย สู่ทางหลวงหมายเลข 1249 ขึ้นไปอีก 25 กิโลเมตร จนถึงดอยอ่างขางเส้นทางลาดชันมาก
เส้นทางที่ 2 จากตัวเมืองเชียงใหม่ ไปตามทางหลวงหมายเลข 107 ถึงแยกเมืองงายเลี้ยวซ้ายสู่ทางหลวงหมายเลข 1178 ผ่านบ้านอรุโณทัย ขึ้นดอยอ่างขาง 45 กิโลเมตร
ทั้ง 2 เส้นทางใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมง
ข้อมูล สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง เชียงใหม่
ที่อยู่ : หมู่ 5 ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่
พิกัด : https://goo.gl/maps/EXRPKz948SFog1QR6