พาเที่ยว โรงตีเหล็กแห่งสุดท้ายของภูเก็ต

พาเที่ยว โรงตีเหล็กแห่งสุดท้ายของภูเก็ต

แสงสุดท้าย
คุยกับ โกโป้-มนูญ หล่อโลหะการ ช่างตีเหล็กวัย 68 ผู้สืบทอดกิจการรุ่นสุดท้ายของโรงตีเหล็กย่านถนนดีบุก แห่งเกาะภูเก็ต อดีตเมืองเหมืองแร่ที่เคยรุ่งเรืองกว่าใคร จน ลาลูแบร์ เขียนบันทึกถึง

เรื่อง ปาริฉัตร คำวาสภาพ ธาม โรจนอุดมวุฒิกุล

“สุมไฟให้แรง เหล็กก็แดงคุโชน เรายกมันขึ้นทั่ง เตรียมทั้งแรงปูดโปน เราลงพะเนินบนเหล็กแดงด้วยไฟ ตีเข้าไป ตีเข้าไป ดัดแปลงรูปใดย่อมเสร็จได้ด้วยแรง

“ทุ่มกาย ทุ่มใจ เพื่อให้ไทยเป็นไทย ต้องสร้างด้วยไฟ ที่ลุกโชนโชติแดง มารวมพลัง สร้างสังคมที่ดี ตีเข้าไป ตีเข้าไป สร้างโลกสดใส ย่อมเสร็จได้ด้วยเรา”

เราพิมพ์คำว่า ‘ช่างตีเหล็ก’ ลงบนช่องค้นหาในกูเกิลก่อนเขียนบทความนี้ แทนที่จะพบประวัติศาตร์ซึ่งใครหลายคนเล่าไว้เรียงต่อกัน แต่ในหน้านั้น กลับคั่นด้วยเพลง คนตีเหล็ก ของ หงา คาราวาน
เรากดฟัง และอ่านเพื่อค้นหาความหมายในเนื้อเพลงช้าๆ
เมื่อรู้ว่า โรงตีเหล็กด้วยมือเหลือเป็นแห่งสุดท้ายบนถนนดีบุก อดีตย่านเหมืองแร่ของเมืองทุ่งคา

“จะเลิกทำแล้วครับ ไม่มีคนสานต่อ ไม่มีคนซื้อ สู้โรงงานไม่ไหว”

ยิ่งหายใจไม่ทั่วท้องกว่าเก่า หลังชายอายุเกินครึ่งคน สวมแต่กางเกงยีนส์ตัวเก่า พูดพร้อมเดินไปจุดเตาเผาเหล็กขนาดสูงใหญ่จรดเพดาน ซึ่งตั้งอยู่หน้าโรงงานเล็กๆ 1 คูหา ‘ไต่สุ่นอั้น’

กวาดสายตาไปรอบๆ แท่งตีเหล็ก ถังน้ำ เครื่องตัดเจียน เครื่องหลอม ค้อน ทั่ง เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ วางใกล้เตาเผาในมุมที่หยิบจับถนัด ข้างฝาห้อยเหล็กกล้าตีสำเร็จหลากชนิด บางชิ้นอายุนับหลายสิบปีที่เลิกผลิตแล้ว บางชิ้นเป็นเหล็กที่เพิ่งตีขึ้นรูปเสร็จพร้อมขาย

กลิ่นควันและเขม่าสีดำทั่วบ้าน ทำหน้าที่บันทึกร่องรอยความรุ่งโรจน์นับ 100 ปีของบ้านเลขที่ 2

เช่นเดียวกับบทความนี้ ที่ตั้งใจบันทึกเรื่องราวของ โกโป้-มนูญ หล่อโลหะการ ช่างตีเหล็กวัย 68 ผู้สืบทอดกิจการโรงตีเหล็กรุ่นสุดท้ายไว้ หากวันใด เขาอาจพบคนสานต่อหลังอ่านจบ

01
อดีต มณฑลภูเก็ตเป็นแหล่งแร่ดีบุกที่อุดมสมบูรณ์มาตั้งแต่โบราณกาล ปรากฏบันทึกการซื้อขายแร่ดีบุกกับฮอลันดาและฝรั่งเศสในยุคแผ่นดินพระนารายณ์มหาราช ขนาด ซีมง เดอ ลา ลูแบร์ (Simon de La Loubère) ราชทูตคนที่ 2 ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เขียนบันทึกขณะเดินทางมาเจริญสัมพันธไมตรีไว้ว่า “ไม่มีประเทศใดจะมีชื่อเสียงว่าร่ำรวยด้วยเหมืองแร่ดีบุกมากกว่าประเทศสยาม”

การขุดแร่ ร่อนแร่ดีบุก ต้องใช้น้ำล้างแยกดินทรายออกจากแร่ ดั้งนั้น ใครจะขุด จำต้องคิดหาแหล่งน้ำก่อน เมื่อพบและปักหลัก จึงเรียกบริเวณนั้นว่า ‘เหมือง’ และเรียกการขุดแร่ดีบุกว่า ‘ทำเหมือง’

ในยุคกิจการเหมืองแร่ดีบุกเฟื่องฟู กอปรกับช่วงถนนดีบุกใกล้แถวน้ำ ที่นี่จึงกลายเป็นย่านโรงตีเหล็ก หล่อเหล็ก ทำอุปกรณ์เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ รวมถึงกงล้อเกวียน กลอน กุญแจ ตะปู ชะแลง เหล็กปอกมะพร้าว ซึ่งทำกันเป็นล่ำเป็นสัน

หนึ่งในนั้นคือโรงตีเหล็กไต่สุ่นอั้น ที่ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2467 โดยรุ่นอากงผู้โล้สำเภาจากจีนแผ่นดินใหญ่มายังเกาะภูเก็ต และนำความรู้วิชาการตีเหล็กมัดติดเสื่อข้ามทะเลมาด้วย

โกโป้เล่าให้เห็นภาพความเจริญในตอนนั้นว่า ถนนเส้นสั้นๆ เพียง 500 เมตรนี้มีอีกราว 5 โรงงานเกิดขึ้นพร้อมกัน โดยแต่ละที่จะมีสัญลักษณ์เป็นของตัวเองเพื่อตีตราแหล่งที่มา ของไต่สุ่นอั้นเป็นตราดาบ

“ทำมาตั้งแต่รุ่นอากง (ปู่) ส่งให้อาแปะ (พี่ชายของพ่อ) สืบทอดก่อน แล้วก็มาเป็นของอาป๋า (พ่อ) แล้วจึงเป็นผม จำความได้ก็ตีเหล็กแล้ว ตอนนั้นอยู่ปอห้า ปอหก ไม่ได้เรียนหนังสือต่อ พ่อเรียกมาช่วยทำงาน เริ่มหัดเองจากการตีเล็กๆ น้อยๆ ฝึกมาเรื่อยๆ จนได้เป็นช่างตีเหล็กเต็มตัวตอนอายุสิบห้าสิบหก นี่ทำมาห้าสิบกว่าปีแล้ว ” ทายาทรุ่นที่ 3 หยุดเล่า ก่อนสอนให้เราจับด้ามค้อนให้มั่น มือถนัดอยู่ล่าง ง้างขึ้นสูงประมาณไหล่ ปั่กๆๆ ทุบเต็มแรงด้วยความเร็วและถี่สม่ำเสมอ หากช้าเหล็กจะหายร้อน ตีต่อไม่ได้
หลังสงครามโลก แร่ก็เริ่มร่อยหรอ ประกอบกับเศรษฐกิจซบเซา

ไม่นาน ยุคอวสานเหมืองแร่ดีบุกก็มาถึง หลายโรงงานล้มหาย บ้างตายจาก บ้างย้ายไปทำกิจการตีเหล็กที่อื่น มีเพียงไต่สุ่นอั้นที่ยืดหยัดผ่านกาลเวลาได้ถึง 2 ศตวรรษ แต่ก็เปลี่ยนกิจการมารับตีเหล็กเฉพาะอุปกรณ์ช่างและอุปกรณ์ก่อสร้าง-ซ่อมแซมท่อ
ปัจจุบัน ที่ไต่สุ่นอั้นยังตีเหล็กด้วยวิธีแบบโบราณ ใช้แรงงานคนเป็นหลัก เริ่มจากดึงลมเป่าเพื่อจุดไฟในเตาโบราณขนาดใหญ่ ก่อนนำเหล็กเข้าไปเผาให้แดงและอ่อนตัว จากนั้นออกแรงตีขึ้นรูปทรง จับคมด้วยค้อน ถู ชุบน้ำ หากยังไม่ได้รูป ต้องนำกลับไปเผาและตีใหม่ไปเรื่อยๆ ขั้นตอนต่อไปจึงตัดแต่งและเจียเพื่อลับให้คม หากชิ้นไหนต้องเสริมด้าม ก็นำไปเชื่อมหลังบ้านเป็นอันจบกระบวนการ โดยมีดพร้า 1 เล่ม ใช้เวลาตีถึง 1 ชั่วโมงเลยทีเดียว

“ผมตีมาจนตอนนี้อายุหกสิบแปด หลังๆ มาไม่ค่อยได้ทำมาก เพราะใช้แรงเยอะ ถ้ามีลูกค้าสั่งทีถึงได้ทำ ถือว่าเป็นการออกกำลังกาย เหลือที่ยังทำอยู่ก็พวกจอบ มีด พร้า ขวาน เครื่องมือทำสวน ก่อสร้าง เครื่องมือช่าง” ชายสูงวัยในชุดกางเกงยีนส์ว่า แล้วตีเหล็กต่อด้วยท่าทางทะมัดทะแมง
เมื่อเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ชาวชุมชนท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ตร่วมมือกันเป่าลมหายใจโรงตีเหล็กแห่งนี้ให้กลับมาคึกคักในฐานะพิพิธภัณฑ์มีชีวิต เพื่อเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวโดยชุมชน ให้แวะฟังโกโป้เล่าเรื่องวิถีชีวิตชาวเหมือง ศาสตร์การตีเหล็กแบบดั้งเดิม ตลอดจนสาธิตวิธีการตีให้ชม และถ้าใครพลังเหลือล้นจะลองเป็นช่างตีเหล็กดูบ้าง เขาก็ยินดีสอน โดยมีค่าจุดเตาและอุปกรณ์เล็กน้อยพอให้จุนเจือกิจการ

แต่ท้ายที่สุด นอกจากการพึ่งพาการท่องเที่ยว โกโป้ยังหวังลึกๆ ว่า หากโรงงานตีเหล็กแห่งนี้สร้างรายได้อย่างยั่งยืน สม่ำเสมอ และยืดหยัดด้วยตัวเองได้อีกครั้ง เขาอาจไม่เลิกกิจการ

“แม้หลายอย่างเปลี่ยนไป แต่ผมก็ภูมิใจที่อย่างน้อยอาชีพตีเหล็กทำให้มีเงินส่งเสียลูกเรียนจนจบ ส่วนตอนนี้ได้ช่วยอนุรักษ์วิถีดั้งเดิมของคนภูเก็ต และถ่ายถอดให้คนรุ่นหลังได้เห็นการตีเหล็กแบบโบราณ”

บทสนทนาจบลง

ไฟยังลุกโชนอยู่อย่างนั้น

ราวกับรอวันเวลาให้ใครสักคนมองเห็นคุณค่าและเข้ามาต่อยอด หลอมความคิดสร้างสรรค์ในรูปแบบใหม่ๆ รวมกับเหล็กร้อน เพื่อให้ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไม่เลือนหายไปก่อนกาล

และเห็นทีจะต้องรวมพลัง อย่างที่เพลง คนตีเหล็ก ว่า

ไต่สุ่นอั้น โรงตีเหล็กแห่งสุดท้ายของภูเก็ต
เลขที่ 2 ถนนดีบุก ย่านเมืองเก่าภูเก็ต เทศบาลเมือง อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต
(แผนที่) ใกล้กับ กำแพง วัดมงคลนิมิต

Share